สวัสดีครับ ในบทความที่แล้วเราได้พูดถึงเทคนิคในการพิมพ์ผ้าแบบต่าง ๆ ในบทความนี้จะพูดถึงสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการพิมพ์ผ้าครับ
เริ่มต้นที่ความหมายของการพิมพ์ผ้านะครับ การพิมพ์ผ้า คือ การทำให้เกิดลวดลาย หรือสีสัน ที่ได้กำหนดลวดลายไว้ล่างหน้าบนวัสดุผ่านแป้งพิมพ์ (Printing Paste) โดยตัวแป้งพิมพ์จะถูกเตรียมขึ้นโดยอาศัย 4 องค์ประกอบด้วยกัน คือ 1. สีที่ใช้ (Colorant) 2. สารข้น (Thickening agent) 3. สารช่วยละลาย (Solvent) และ 4. สารเสริม (Auxiliaries) ซึ่งอธิบายแยกทีละตัวได้ดังนี้
- สีที่ใช้ (Colorant) เราสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ สีย้อม (dyestuff) และ เม็ดสี (pigment)
1.1 สีย้อม (dyestuff) คือ สีชนิดหนึ่งที่ใช้ในการย้อมเส้นใยของผ้า อาจจะเป็นสารอินทรีย์ หรือสารอนินทรีย์ก็ได้ ตัวสีย้อมจะมีลักษณะเป็นผลึกหรือผงละเอียด สีย้อมบางชนิดละลายน้ำได้ บางชนิดจะไม่สามารถละลายน้ำแต่จะละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ได้ โดยเราสามารถแบ่งสีย้อมได้เป็น สีย้อมธรรมชาติ (natural dyestuffs) ซึ่งเป็นสีย้อมที่มาจากแหล่งธรรมชาติ โดยเฉพาะพืชและสัตว์ สีย้อมที่มาจากส่วนประกอบของพืช เช่น ลำต้น ราก ดอก หรือ เปลือก และ สีย้อมสังเคราะห์ (synthetic dyestuffs) เป็นสีย้อมที่เกิดจากกระบวนการทางเคมี
1.2 เม็ดสี (pigment) หรือ บางคนเรียกว่า “ผงสี” คือ สารให้สีที่ไม่เกิดพันธะเคมีกับพอลิเมอร์ ส่งผลให้เม็ดสีไม่สามารถละลายเข้ากับพอลิเมอร์ได้ ทำให้เวลาใช้สีประเภทนี้จะเป็นแค่การเคลือบผิวผ้าเพียงเท่านั้น ตัวสีจะไม่ซึมเข้าสู่เส้นใยของผ้าทำให้สีไม่คงทนเท่าใดนัก แต่จุดเด่นของเม็ดสี คือ สามารถพิมพ์ลงบนผ้าได้แทบทุกชนิด ไม่เหมือนสีย้อมบางชนิดที่สามารถพิมพ์ลงได้แค่บนผ้าที่ทอจากเส้นใยธรรมชาติเท่านั้นครับ
ความต่างที่สำคัญของสีทั้งสองชนิดนี้ คือ ราคา และความทนทาน โดยเม็ดสีจะมีราคาที่ถูกกว่าแต่ต้องแลกมาด้วยความทนทานของสี เนื่องจากเป็นเพียงการเคลือบสีบนผ้า เพราะไม่เกิดพันธะทางเคมี ตรงกันข้ามกับ สีย้อมที่จะสร้างพันธะทางเคมีกับผ้า ทำให้สีฝังลงไปบนเส้นใยผ้าโดยตรง
- สารข้น (Thickening agent) คือ สารที่สามารถเข้ากันได้ดีกับสารทุกชนิดในแป้งพิมพ์ ซึ่งมีคุณสมบัติ คือ ละลายน้ำได้ง่าย ล้างออกง่าย มีความเสถียรในขั้นตอนการฟิกซ์สี โดยสารข้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สารข้นจากธรรมชาติ ได้แก่ แป้ง (starch) ยางไม้อะราบิกกัม (Arabic gum) และ โซเดียมอัลจิเนต (Sodium Alginate) ที่ได้จากสาหร่ายสีน้ำตาล และสารข้นสังเคราะห์ ได้แก่ พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ (Polyvinyl Alcohol: PVA) หรือ พอลิอะคริเลต (Polyacrylate) ซึ่งการเลิกใช้สารข้มนั้นจะแตกต่างกันไปตามประเภทของสีครับ
- สารช่วยละลาย (Solvent) หรือ ตัวทำละลายอย่าง เอทิลีนไกลคอล (Ethylene Glycol) ยูเรีย(Urea) โซเดียมเบนโซเอท (Sodium Benzoate)
- สารเสริม (Auxiliaries) คือ สารที่เพิ่มเข้ามาเพื่อลดค่า pH เช่น แอมโมเนีย แอมโมเนียซัลเฟต โซเดียมคาบ์บอเนต สารรีดิวซ์ และ ด่าง ซึ่งสารเสริมเหล่านี้จะใช้แตกต่างกันตามแต่ประเภทสีด้วยครับ
หลังจากรู้เรื่องแป้งพิมพ์แบบพอสังเขปแล้วเรามาดูวิธีการพิมพ์ผ้ากันครับ (อย่าสับสนกับเทคนิคการพิมพ์นะครับ)
วิธีการพิมพ์ผ้าสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ การพิมพ์โดยตรง (Direct Printing) และ การพิมพ์แบบอ้อม (Indirect Printing)
มาดูวิธีแรกก่อนเลยนะครับ
การพิมพ์โดยตรง (Direct Printing) เป็นการใช้แป้งพิมพ์ซึ่งผสมกับหมึกพิมพ์ตามประเภทที่เหมาะกับเนื้อผ้าพร้อมกับการผสมสารเคมีอื่น ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความคมชัดของสีและลวดลาย ทำการพิมพ์ลวดลายลงบนผ้าโดยตรง โดยจะทำความสะอาดผ้าก่อนด้วยวิธีการลนไฟ (singeing, desizing) ซึ่งการพิมพ์โดยตรง ได้แก่
- การพิมพ์ทับ (Over Printing) – การพิมพ์ทับเพื่อเป็นการรองพื้นสำหรับผ้าสีเข้ม เพื่อให้สามารถพิมพ์สีอ่อนหรือสีใสพิมพ์ทับด้านบนได้ เป็นต้น
- การพิมพ์แบบดิสชาร์ท (Discharge Printing) – เป็นการพิมพ์ลวดลายบนผ้าที่ถูกย้อมสีมาก่อนแล้ว โดยหลักการของวิธีนี้ คือ การกำจัดสีพื้นที่ถูกย้อมมาไว้ก่อนออกจากผ้า จากนั้นทำการพิมพ์ทับลงบนบริเวณที่ลอกสีออก โดยสารที่นิยมใช้ลอกสีเป็นสารรีดิวซ์ เช่น ฟอร์มอลดีไฮด์ โซเดียมฟอร์มอลดีไฮด์ซัลโฟซิลเลท ซึ่งสีที่ลอกจะยังไม่หลุดออกจากผ้า จนกว่าจะถึงขั้นตอนการอบไอน้ำ และล้างสีออก
- การพิมพ์แบบรีซิส (Resist Printing) – นิยมใช้กันในงานพิมพ์ผ้าบาติก เป็นการพิมพ์ลายโดยผสมสารกันสี (Resisting agent) ลงในแป้งพิมพ์ ซึ่งอาจจะใช้แวกซ์เพื่อป้องกันสีย้อมซึ่งจะถูกย้อมหรือพิมพ์ทับในภายหลัง ซึ่งจะตรงข้ามกับการพิมพ์แบบดิสชาร์ท ตรงที่การพิมพ์แบบรีซิสจะทำการพิมพ์ลายก่อนแล้วค่อยย้อมด้วยสี แต่การพิมพ์แบบดอสชาร์ทจะย้อมสีก่อนแล้วค่อยพิมพ์ลายลงไปครับ
- การพิมพ์แบบเบิร์นเอ้าท์ (Burn-out Printing) – เป็นการทำให้เกิดลวดลายบนเนื้อผ้าที่มีเส้นใยผสม 2 ชนิด อย่างเช่นผ้า TC ที่มีส่วนผสมของเส้นใยฝ้ายและเส้นใยสังเคราะห์ ด้วยการผสมสารเคมีที่มีคุณสมบัติทำลานเส้ยใยฝ้ายออกจากลวดลายที่พิมพ์ ทำให้เส้นใยฝ้ายถูกทำลายทำให้เหลือแค่เส้นใยสังเคราะห์เพียนิดเดียว ทำให้ลวดลายที่ได้จะดูโปร่งครับ
วิธีที่สอง การพิมพ์แบบอ้อม (Indirect Printing) เป็นวิธีการพิมพ์ที่ทำให้เกิดลวดลายบนผ้า ที่อาศัยการถ่ายโอนความร้อน (Heat Transfer) ซึ่งเราอาจจะคุ้นเคยกันดีในชื่อของ การพิมพ์แบบทรานเฟอร์หรือการพิมพ์รูปลอก (Transfer or Indirect Printing) สามารถทำได้โดยใช้วิธีการพิมพ์ลายลงบนกระดาษแล้วนำไปผ่านกระบวนการอัดหรือรีดด้วยความร้อน สีก็จะเคลื่อนตัวจากกระดาษเข้าไปในผ้า ทำให้เกิดลวดลายตามต้องการครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกท่านนะครับ หากมีข้อผิดพลาดประการใด ทางบริษัทต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ แล้วอย่าลืมติดตามบทความหน้านะครับ