เทคนิคการพิมพ์ผ้า

เทคนิคการพิมพ์ผ้า

การพิมพ์ผ้าแต่ละแบบมีอะไรบ้าง และแตกต่างกันอย่างไร

ต้องยอมรับเลยว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีส่วนช่วยเข้ามาทำให้กระบวนการผลิตแบบเดิมเปลี่ยนไป ไม่เว้นแม้แต่เทคโนโลยีทางการพิมพ์ที่มีกระบวนการที่ทันสมัยขึ้น

วันนี้ บริษัท โอวรุ่งเรืองค้าผ้า จำกัด จะพาไปดูว่าในปัจจุบันวิธีการพิมพ์ผ้าสามารถทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง และแต่ละวิธีแตกต่างกันอย่างไรนะครับ

 

1. การพิมพ์แบบปั๊ม (Stamp Printing)

การพิมพ์แบบนี้เป็นการพิมพ์โดยอาศัยตัวปั๊ม (Stamp) ที่ทำออกมาเป็นรูปแบบ หรือรูปทรงต่าง ๆ คล้ายกับตัวปั๊มหรือตรายางครับ โดยวิธีการพิมพ์แบบนี้จะเริ่มต้นที่เรานำรูปแบบหรือลวดลายต่าง ๆ ที่ได้ออกแบบมา มาทำเป็นตัวปั๊มจากนั้นนำตัวปั๊มเหล่านั้นไปจุ่มหมึกและประทับลงบนผ้า เราก็จะได้ลวดลายต่าง ๆ บนผ้าตามที่เราได้ออกแบบไว้แล้วครับ ซึ่งการใช้วิธีพิมพ์แบบนี้มักถูกจำกัดรูปแบบหรือลวดลายเพราะการสร้างตัวปั๊มแต่ละตัวมีต้นทุน หากเราอยากขายเสื้อ 20 ลาย เราจำเป็นต้องมีตัวปั๊มถึง 20 ตัว ดังนั้นการทำลวดลายที่ซับซ้อนจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการสร้างตัวปั๊มครับ

เทคนิคการพิมพ์ผ้า

ตัวอย่างการพิมพ์แบบปั๊ม (Stamp Printing)

ที่มา : https://www.pinterest.com/pin/318840848590596542/

 

ข้อดี

  1. ไม่ต้องใช้เครื่องจักรในการพิมพ์
  2. ลวดลายที่ได้จะคงที่เสมอ เนื่องจากมาจากตัวปั๊มตัวเดียวกัน
  3. เหมาะสำหรับกิจการขนาดเล็ก เนื่องจากลงทุนไม่มากนัก

ข้อเสีย

  1. รายละเอียด หรือ ลวดลาย ทำได้จำกัด เนื่องจากการทำตัวปั๊มที่มีรายละเอียดสูงทำได้ยาก
  2. ไม่สามารถพิมพ์ในจำนวนที่มากได้
  3. จำกัดแค่ 1 ลวดลาย ต่อ 1 ตัวปั๊ม
  4. คุณภาพการพิมพ์ที่ได้อาจไม่คงที่เนื่องจาก แรงมือจากการปั๊มแต่ละครั้งไม่เท่ากัน

 

2. การพิมพ์แบบทรานเฟอร์ หรือการพิมพ์แบบถ่ายโอนความร้อน (Transfer Printing)

ในอดีตการพิมพ์แบบนี้จะอาศัยกระดาษเป็นตัวถ่ายโอนลวดลายต่าง ๆ ซึ่งกระดาษตัวนี้เป็นกระดาษชนิดพิเศษที่สามารถหาซื้อได้จากร้านเครื่องเขียน ร้านงานฝีมือต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าบางแห่งก็มีขาย โดยหลักการของการพิมพ์แบบนี้ คือ การถ่ายโอนความร้อน เริ่มจากให้เราพิมพ์ลวดลายที่เราออกแบบลงบนกระดาษถ่ายโอน (Transfer Paper) ด้วยเครื่องพิมพ์ที่ใช้กันในครัวเรือน หรือ สำนักงานทั่วไป จากนั้นให้นำกระดาษทาบบนผ้าที่เราต้องการพิมพ์ลายลงไปจากนั้นให้ใช้ เตารีดไอน้ำรีดทับ จะทำให้ลวดลายที่อยู่บนกระดาษที่เราพิมพ์ออกมาตอนแรก ไปอยู่บนผ้าในที่สุด ซึ่งในปัจจุบันวัสดุที่ใช้ไม่ได้มีเพียงกระดาษ แต่ผู้พิมพ์บางรายสามารถใช้ฟิล์มชนิดพิเศษพิมพ์ได้ โดยในโรงงานขนาดใหญ่ที่ยังใช้การพิมพ์ระบบนี้อยู่จะใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในการพิมพ์ลายครับ แต่การพิมพ์ลายแบบนี้ไม่ใช่วิธีการพิมพ์ลายแบบถาวร เนื่องจากหากเกิดการซักหลาย ๆ ครั้ง ลวดลายที่เราพิมพ์ลงไปอาจหลุดลอกหรือจางหายไปในที่สุดครับ

เทคนิคการพิมพ์ผ้า

ตัวอย่างการพิมพ์แบบทรานส์เฟอร์ (Transfer Printing)

ที่มา : https://www.contrado.co.uk/blog/printing-methods-differences/

สำหรับคนที่สนใจอยากดูวิธีพิมพ์ผ้าแบบทรานส์เฟอร์สามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=AXCh6rW2LbY

 

ข้อดี

  1. ใช้เครื่องพิมพ์ (Printer) ธรรมดาพิมพ์ลายได้
  2. ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษอะไรเลย แค่มีเครื่องพิมพ์กับกระดาษถ่ายโอนก็สามารถพิมพ์ลายได้
  3. เหมาะกับการทำงานที่มีจำนวนน้อย (กรณีใช้เตารีดไอน้ำ)
  4. พิมพ์ได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก

ข้อเสีย

  1. ทิ้งผิวสัมผัสไว้บนผ้า ทำให้อาจรู้สึกไม่สบายเวลาสวมใส่
  2. การพิมพ์ทำได้ครั้งเดียว ไม่สามารถนำกระดาษเดิมไปใช้ซ้ำได้
  3. ลวดลายอาจมีการแตก จางหาย เมื่อซักหลายครั้ง
  4. ความละเอียดของการพิมพ์ต่ำ

 

3. การพิมพ์แบบสกรีน (Screen Printing)

ในอดีตการพิมพ์แบบสกรีนอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่ปัจจุบันการพิมพ์แบบนี้แพร่หลายอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการพิมพ์ขนาดใหญ่ก็ยังนิยมใช้การพิมพ์แบบนี้กันอยู่ เช่น การพิม์แบบ ซิลค์สกรีน (Silkscreen Printing) ที่เราสามารถพบได้อย่างทั่ว ๆ ไปในธุรกิจการพิมพ์ วิธีการพิมพ์แบบนี้จะอาศัยแม่พิมพ์ลายฉลุและตาข่ายไนลอนเพื่อสร้างตัวแบบการพิมพ์ (Print Design) หรือเราอาจเรียกได้ว่าตัวบล็อกสี และอาศัยหลักการปาดสีทับตัวบล็อกสีเหล่านั้น โดยตัวบล็อกสีนี้จะเป็นตัวที่จะกันไม่ให้สีต่าง ๆ ถูกพิมพ์ลงไปในจุดที่เราไม่ต้องการบนผืนผ้า แต่จะให้หมึกสามารถพิมพ์ลงไปบนผ้าได้ผ่านลวดลายที่ถูกออกแบบไว้บนตัวบล็อกเหล่านั้น ซึ่งการพิมพ์สี ๆ หนึ่งจะใช้บล็อกสีเพียงอันเดียว ตัวอย่างเช่น หากงานพิมพ์เรามี 4 สี เราต้องใช้ตัวบล็อกสี 4 ตัวนั่นเอง ในการพิมพ์แบบสกรีนนั้นยังสามารถแบ่งออกเป็นแบบย่อยได้อีก 2 แบบ คือ Falt-bed Screen และ Rotary Screen ซึ่งจะต่างกันตรงรูปทรงของบล็อกพิมพ์โดยแบบแรกบล็อกพิมพ์จะเป็นเหลี่ยม แต่แบบที่สองบล็อกพิมพ์จะมีรูปทรงเป็นทรงกระบอกครับ

เทคนิคการพิมพ์ผ้า

ตัวอย่างการพิมพ์แบบสกรีน (Screen Printing)

ที่มา : https://esdipberlin.com/screenprinting-workshop/

 

ข้อดี

  1. ใช้ตัวบล็อกทำงานซ้ำได้ไม่จำกัด
  2. สีติดแน่นทนนาน
  3. เหมาะกับคนที่ชอบงานที่มีความคมชัด
  4. คุ้มค่าสำหรับการทำงานจำนวนมาก (เหมาะกับโรงงานขนาดใหญ่)

ข้อเสีย

  1. ไม่เหมาะสำหรับการออกแบบที่มีหลายสี
  2. ใช้แรงงานจำนวนมาก จึงไม่เหมาะกับโรงงานขนาดเล็ก
  3. ไม่เหมาะสำหรับรูปภาพ
  4. สิ้นเปลืองหมึกพิมพ์

 

4. การพิมพ์แบบดายซับลิเมชั่น (Dye Sublimation)

หากแปลตรงตัว คือ อาศัยหลักการระเหิดในการพิมพ์ลายลงบนผ้า หมายถึง การที่ของแข็ง เปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซเมื่อได้รับพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในการพิมพ์แบบนี้ จะเป็นการให้ความร้อนจนทำให้ สารให้สี (Dye) ที่ฉาบไว้บนวัสดุที่ใช้เป็นตัวกลางให้สีเกาะอยู่ ระเหิดจากสถานะของแข็งกลายเป็นไอ แล้วไปเกาะติดบนผ้าที่เราต้องการสร้างลวดลาย หลักการฟังดูคล้ายการถ่ายโอนใช่ไหมครับ แต่จุดต่างของการพิมพ์แบบนี้ คือ ลวดลายที่ได้จากการพิมพ์แบบนี้จะยึดติดกับเสื้อผ้าอย่างถาวรด้วยความร้อนและแรงดัน ไม่เหมือนการถ่ายโอนที่ลวดลายจะซีดจางเมื่อผ่านการซัก นอกจากนี้การพิมพ์แบบนี้ยังไม่ทิ้งผิวสัมผัสของลวดลายไว้บนผ้าทำให้ผ้าเรียบ และ นุ่มเหมือนก่อนพิมพ์เลยครับ เหมาะสำหรับงานพิมพ์ที่มีความซับซ้อนและมีหลากหลายสีเป็นอย่างมากครับ

เทคนิคการพิมพ์ผ้า

ตัวอย่างเครื่องพิมพ์แบบ Dye Sublimation

ที่มา : https://www.indiamart.com/proddetail/roland-dye-sublimation-printer-15911107712.html

 

ข้อดี

  1. ลายพิมพ์ติดแน่น ถาวร
  2. ลายที่พิมพ์ลงไปไม่ทิ้งผิวสัมผัส แต่จะเรียบเนียนไปกับเนื้อผ้าเลย
  3. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้กับหมึกแบบ water-based
  4. เหมาะสำหรับการพิมพ์งานทุกประเภท ทั้งงานใหญ่และงานเล็ก

ข้อเสีย

  1. พิมพ์ได้แค่บนผ้าที่ทอจากใยสังเคราะห์เท่านั้น ไม่สามารถพิมพ์ลงบนผ้าที่ทอจากเส้นใยธรรมชาติ
  2. ต้องใช้อุปกรณ์การพิมพ์และสีย้อมเฉพาะทาง
  3. ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์สูง
  4. ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ในเชิงลึกในการพิมพ์

 

5. การพิมพ์แบบเม็ดสี (Pigment Printing)

การพิมพ์แบบนี้เป็นหนึ่งในการพิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับการพิมพ์บนเส้นใยเซลลูโลส (Cellulose fibers) ทำให้เหมาะกับการพิมพ์ลงบนผ้าที่ทอจากเส้นใยธรรมชาตินั่นเองครับ แต่การพิมพ์แบบนี้ยังสามารถใช้ได้กับผ้าที่ทอจากเส้นใยสังเคราะห์ (Synthetic fibers) ส่งผลให้การพิมพ์แบบนี้มีความหลากหลาย ครอบคลุมกับผ้าแทบทุกประเภท ซึ่งการพิมพ์แบบเม็ดสีนี้จะใช้วัสดุชนิดพิเศษ คือ ต้องใช้สีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการพิมพ์ ซึ่งจะมีความเหนียว และมีสารยึดเหนี่ยว (Binder) โดยสีประเภทนี้จะมีราคาที่ถูกกว่าประเภทอื่นครับ โดยขั้นตอนในการพิมพ์จะคล้าย ๆ กับการพิมพ์แบบสกรีนนั่นเอง แต่จะต่างกันตรงที่การพิมพ์แบบเม็ดสีนี้จะพิมพ์ซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดสีขึ้น แต่การพิมพ์นี้จะไม่ได้พิมพ์โดยตรงลงบนเนื้อผ้า แต่เป็นการเคลือบสีลงบนผ้านั่นเอง จากนั้นจะนำผ้าที่พิมพ์ไปอบแห้ง (Drying) ที่ประมาณ 110-120 องศา และขั้นตอนสุดท้าย คือ นำผ้าไปบ่ม (Curing) ที่อุณหภูมิแตกต่างกันไปตามชนิดของผ้าที่ใช้

เทคนิคการพิมพ์ผ้า

ตัวอย่างสีที่มีความเหนียวและสารยึดเหนี่ยว

ที่มา : https://www.contrado.co.uk/blog/printing-methods-differences/

 

ข้อดี

  1. สีสว่างสดใส ติดแน่นถาวร
  2. ง่ายในการพิมพ์ จับคู่สีง่าย เพราะมีสีให้เลือกเยอะ
  3. ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรราคาแพง
  4. เป็นเทคนิคการพิมพ์ที่มีความเร็วสูง

ข้อเสีย

  1. ไม่ได้พิมพ์โดยตรงลงบนเนื้อผ้า
  2. ใช้สารยึดเกาะเคลือบสีลงบนผ้า แทนที่จะฝังสีลงเส้นใย
  3. สีจะลดลงเมื่อใช้ซ้ำกับวัสดุเดียวกัน

 

6. การพิมพ์แบบ Reactive (Reactive Printing)

การพิมพ์แบบนี้เป็นการพิมพ์ที่อาศัยความร้อนมาช่วยในการทำลวดลายบนผ้า เช่นเดียวกับวิธีพิมพ์แบบเม็ดสี โดยจะใช้สี Reactive ซึ่งเป็นสีเฉพาะที่ใช้กับการพิมพ์แบบนี้ ซึ่งเมื่อพิมพ์เสร็จแล้วสีจะอยู่บนผิวของผ้ายังไม่ถูกฝังลงไปในเส้นใย กระบวนการหลังการพิมพ์ คือ เราจะนำผ้าไปอบด้วยไอน้ำที่อุณหภูมิประมาณ 102 องศา เพื่อให้สีเข้าไปในเส้นใย ต่อจากนั้นต้องนำผ้าไปซักเพื่อให้สีส่วนเกินออกมาจากผ้า หลังจากนั้นนำผ้าที่ซักไปอบเพื่อเพิ่มคุณภาพของลวดลายที่เราพิมพ์อีกทีหนึ่ง ซึ่งจุดนี้เองจะต่างจ่างการพิมพ์แบบ Pigment ที่เราไม่จำเป็นต้องซัก และอบซ้ำอีกรอบครับ อีกจุดหนึ่งที่ทำให้การพิมพ์แบบนี้แตกต่างจากการพิมพ์แบบ Pigment คือ การพิมพ์แบบนี้ สามารถพิมพ์ลงบนผ้าที่ทอจากเส้นใยธรรมชาติเท่านั้น ไม่สามารถพิมพ์ลงบนผ้าที่ทอจากเส้นใยสังเคราะห์เหมือนการพิมพ์แบบเม็ดสีได้

เทคนิคการพิมพ์ผ้า

ตัวอย่างเครื่องพิมพ์แบบ Reactive Printing

ที่มา : http://www.jvdigitalprinting.com/reactive-printing.php 

 

ข้อดี

  1. สร้างพันธะทางเคมีระหว่างผ้ากับเส้นใย ทำให้สีฝังลงไปบนเส้นใยเลย
  2. พิมพ์ได้ดีบนผ้าที่ทอจากเส้นใยธรรมชาติ
  3. สี Reactive มีเฉดที่โดดเด่น สวยงาม

ข้อเสีย

  1. มีขั้นตอนการพิมพ์ที่ซับซ้อนทั้งก่อนพิมพ์ และหลังพิมพ์
  2. การพิมพ์แบบนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูง รวมถึงใช้เวลานาน

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับวิธีการพิมพ์ต่าง ๆ ในความเป็นจริงยังมีระบบการพิมพ์แบบอื่นอีกมากมาย แต่ที่ผมยกมาวันนี้ เป็นวิธีการพิมพ์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันครับ หวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้ทางด้านการพิมพ์ผ้า ไม่มากก็น้อยนะครับ หากมีข้อผิดพลาดประการใด บริษัท โอวรุ่งเรืองค้าผ้า จำกัด ต้องขออภัย มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

อย่าลืมติดตามความรู้อื่น ๆ ในบทความต่อ ๆ ไป ครับ

บทความอื่นที่น่าสนใจ