เบอร์เส้นด้าย (Yarn Count) นับอย่างไร?

หลายคนสงสัยว่าทำไมผ้าที่ทอจากเส้นใยประเภทเดียวกัน ทอจากโรงงานเดียวกัน ทำไมความหนาบาง ความนุ่มความหยาบของผ้าจึงต่างกัน สาเหตุมาจากการใช้ “เบอร์เส้นด้าย” ที่ต่างกัน จึงไม่แปลกครับที่ในปัจจุบันจะมีชื่อผ้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามากมาย เพราะแค่เปลี่ยนเบอร์เส้นด้ายในการทอก็เรียกชื่อใหม่ ๆ กันออกมา ซึ่งในวันนี้ บริษัท โอวรุ่งเรืองค้าผ้า จำกัด จะพาไปดูว่าเบอร์เส้นด้ายคืออะไร ใช้หน่วยอะไรในการวัด และหน่วยในการวัดเส้นด้ายแต่ละชนิดเหมือนกันหรือไม่

เบอร์เส้นด้าย (Yarn Count) คือ สิ่งที่บอกเราว่าเส้นด้ายมีขนาดเล็กหรือใหญ่ หนาหรือบางแค่ไหน โดยนิยามเหล่านี้ถูกกำหนดโดยสถาบันสิ่งทอซึ่งได้มีการพัฒนาและตกลงให้ใช้เป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในปัจจุบันระบบเบอร์เส้นด้ายสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระบบกลับหรือระบบผกผัน (Indirect System) และ ระบบตรง (Direct System)

 

1. ระบบกลับ (Indirect System)

เบอร์เส้นด้ายในระบบนี้จะแสดงถึงด้ายที่มีน้ำหนักคงที่ แต่ความยาวของด้ายจะเปลี่ยนแปลงตามเบอร์ด้าย กล่าวคือ ยิ่งเบอร์ด้ายสูงขึ้นเส้นด้ายยิ่งเล็ก ทอออกมาแล้วผ้าจะบาง มีความละเอียดของเนื้อผ้ามาก แต่ถ้าเบอร์ด้ายต่ำเส้นด้ายจะมีขนาดใหญ่ ทำให้เวลาทอออกมาแล้วผ้าจะหนา มีลักษณะหยาบ โดยหน่วยของระบบกลับที่นิยมใช้กัน ได้แก่ English Cotton Count, Worsted Count, Linen Count และ Metric Count ซึ่งแต่ละหน่วยจะมีการกำหนดความยาวด้ายต่อน้ำหนักที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการคำนวณเบอร์เส้นด้ายในหน่วยที่กล่าวมาจึงมีความแตกต่างกันไป สามารถอธิบายได้ดังนี้ครับ

1.1 เบอร์ด้ายฝ้ายอังกฤษ (English Cotton Count)

ใช้กับเส้นด้ายฝ้าย (cotton), เรยอน (rayon), ด้ายผสมโพลีเอสเตอร์กับฝ้าย (TC) และ ด้ายผสมโพลีเอสเตอร์กับเรยอน (TR) โดยมีการกำหนดเบอร์ คือ

ด้ายเบอร์    1s  น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  ปอนด์  เส้นด้ายยาว 840  หลา

ด้ายเบอร์  20s น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  ปอนด์  เส้นด้ายยาว 20 x 840  หลา(16,800 หลา)

ด้ายเบอร์  30s น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  ปอนด์  เส้นด้ายยาว 30 x 840   หลา(25,200 หลา)

สามารถเขียนได้เป็นสูตรตามนี้ คือ เบอร์ด้าย (Ne) = ความยาว(หลา)/(น้ำหนัก(ปอนด์)x840)

*1 หลา ยาวประมาณ 0.91 เมตร หรือ 91.44 เซนติเมตร

**1 ปอนด์ หนักประมาณ 0.45 กิโลกรัม

ส่วนใหญ่เบอร์ด้ายจะแทนด้วยสัญลักษณ์ เช่น Ne 20s (บางที่ใช้ Ne 20/1) หมายถึง เส้นด้ายเบอร์ 20 มีน้ำหนักเส้นด้าย 1 ปอนด์ เส้นด้ายยาว 840×20 = 16,800 หลา ส่วนตัว s หรือ /1 ต่อท้ายมีความหมายว่าเป็นด้ายเส้นเดี่ยว(single) ส่วน/2 หมายถึงเส้นด้ายจำนวน 2 เส้นมาควบเป็นเกลียวกันนั่นเองครับ

 

1.2 เบอร์ด้ายขนสัตว์ (Worsted Count)

ใช้กับเส้นด้ายขนสัตว์ (wool) โดยมีการกำหนดเบอร์ คือ

ด้ายเบอร์    1s  น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  ปอนด์  เส้นด้ายยาว 560  หลา

ด้ายเบอร์  20s  น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  ปอนด์  เส้นด้ายยาว 20 x 560  หลา(11,200 หลา)

ด้ายเบอร์  30s น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  ปอนด์  เส้นด้ายยาว 30 x 560   หลา(16,800 หลา)

สามารถเขียนได้เป็นสูตรตามนี้ คือ เบอร์ด้าย (Nw) = ความยาว(หลา)/(น้ำหนัก(ปอนด์)x560)

 

1.3 เบอร์ด้ายลินิน (Linen Count)

ใช้กับเส้นด้ายลินิน (linen) ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นใยธรรมชาติชนิดหนึ่งโดยมีการกำหนดเบอร์ คือ

ด้ายเบอร์    1s  น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  ปอนด์  เส้นด้ายยาว 300  หลา

ด้ายเบอร์  20s น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  ปอนด์  เส้นด้ายยาว 20 x 300  หลา(6,000 หลา)

ด้ายเบอร์  30s น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  ปอนด์  เส้นด้ายยาว 30 x 300   หลา(9,000 หลา)

สามารถเขียนได้เป็นสูตรตามนี้ คือ เบอร์ด้าย (Nl) = ความยาว(หลา)/(น้ำหนัก(ปอนด์)x300)

 

1.4 เบอร์ด้ายเมตริก (Metric Count)

ใช้กับเส้นด้ายที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก จำพวกด้ายแฟนซี (fancy) โดยมีการกำหนดเบอร์ คือ

ด้ายเบอร์    1s  น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  กิโลกรัม  เส้นด้ายยาว 1   กิโลเมตร

ด้ายเบอร์  20s น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  กิโลกรัม  เส้นด้ายยาว 20 กิโลเมตร

ด้ายเบอร์  30s น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  1  กิโลกรัม  เส้นด้ายยาว 30 กิโลเมตร

สามารถเขียนได้เป็นสูตรตามนี้ คือ เบอร์ด้าย (Nm) = ความยาว(กิโลเมตร)/(น้ำหนัก(กิโลกรัม)x1)

เบอร์เส้นด้าย

 

2. ระบบตรง (Direct System)

เป็นระบบที่ตรงข้ามกับระบบกลับ กล่าวคือ เป็นระบบเบอร์ด้ายที่มีความยาวคงที่ แต่น้ำหนักนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามเบอร์ด้าย ยิ่งเบอร์ด้ายสูงขึ้นเส้นด้ายจะมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ถ้าเบอร์ด้ายต่ำเส้นด้ายจะมีขนาดเล็กครับ โดยหน่วยของระบบตรงที่นิยมใช้กัน คือ ระบบเท็กซ์ (Tex Count) และระบบดีเนียร์ (Denier Count) ซึ่งมีลักษณะดังนี้

2.1 ระบบเท็กซ์ (Tex Count)

ใช้กับเส้นด้ายสังเคราะห์ใยยาว เช่น โพลีเอสเตอร์(Polyester) หรือ ไนลอน(Nylon) นอกจากนี้ยังใช้กับไหมซึ่งเป็นใยยาวที่ได้จากธรรมชาติด้วย ซึ่งระบบเท็กซ์ได้ถูกกำหนดให้เป็นระบบสากลทางสิ่งทอด้วย โดยมีการกำหนดเบอร์ คือ

ด้ายเบอร์    1T น้ำหนักเส้นด้ายหนัก    1  กรัม  เส้นด้ายยาว    1,000   เมตร

ด้ายเบอร์  20T น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  20  กรัม  เส้นด้ายยาว    1,000   เมตร

ด้ายเบอร์  30T  น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  30  กรัม  เส้นด้ายยาว    1,000   เมตร

สามารถเขียนได้เป็นสูตรตามนี้ คือ เบอร์ด้าย (T) = น้ำหนัก(กรัม)x1,000/ความยาว(เมตร)

 

2.2 ระบบดีเนียร์ (Denier Count)

เหมาะกับเส้นด้ายสังเคราะห์ใยยาวเช่นเดียวกับระบบเท็กซ์ โดยมีการกำหนดเบอร์ คือ

ด้ายเบอร์      1D  น้ำหนักเส้นด้ายหนัก      1  กรัม  เส้นด้ายยาว    9,000   เมตร

ด้ายเบอร์  100D  น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  100  กรัม  เส้นด้ายยาว    9,000   เมตร

ด้ายเบอร์  150D  น้ำหนักเส้นด้ายหนัก  150  กรัม  เส้นด้ายยาว    9,000   เมตร

สามารถเขียนได้เป็นสูตรตามนี้ คือ เบอร์ด้าย (T) = น้ำหนัก(กรัม)x9,000/ความยาว(เมตร)

*หน่วยดีเนียร์มีค่าเป็น 9 เท่าของหน่วยเท็กซ์ ซึ่งในปัจจุบันเบอร์เส้นด้ายจะมีความละเอียดสูงขึ้น จึงสามารถเขียนให้อยู่ในหน่วยย่อยลงไปอีก โดยอาศัยการเติมคำนำหน้า (prefix) คำว่า tex ลงไป เช่น มิลลิเท็กซ์ (MilliTex) น้ำหนักเส้นด้ายจะอยู่ในหน่วยมิลลิกรัม, เดซิเท็กซ์ (DeciTex) น้ำหนักเส้นด้ายจะอยู่ในหน่วยกรัม แต่ความยาวเส้นด้ายจะยาว 10,000 เมตร, กิโลเท็กซ์ (KiloTex) น้ำหนักเส้นด้ายจะอยู่ในหน่วยกิโลกรัมครับ

เบอร์เส้นด้าย

ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้การนับเบอร์เส้นด้ายด้วยระบบกลับ คือยิ่งด้ายเบอร์สูงเส้นด้ายจะมีขนาดเส้นเล็กครับ

หวังว่าบทความเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน อย่าลืมติดตามบทความอื่นได้ที่หน้าเว็บเลยนะครับ

บทความอื่นที่น่าสนใจ