ประเพณีสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนไทยที่มีมาอย่างช้านานอย่างหนึ่ง คือ การทอดกฐิน ซึ่งเป็นประเพณีที่มีระยะเวลาทั้งสิ้น 1 เดือนหลังจากออกพรรษา โดยในการทอดกฐินนั้นจะเป็นการ ถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยในอดีตกาลผ้ากฐินที่เราจะนำไปถวายนั้นจะ ไม่ใช่ผ้าไตรจีวรที่ตัดเย็บ หรือ ย้อมสีมาเรียบร้อยแล้ว เพราะในสมัยก่อนพระภิกษุจะรับผ้าขาวและทำการย้อมสีเองครับ แต่ในปัจจุบันวัดบางแห่งมีการอนุโลมให้นำผ้าที่ตัดเย็บหรือย้อมแล้วมาถวายได้ ซึ่งการรับผ้าที่ตัดเย็บย้อมสำเร็จรูปมานั้น พระสงฆ์จะไม่ได้ทำการรับผ้ามาเพื่อการกรานกฐิน ซึ่งจะไม่ครบองค์คุณสมบัติในกฐินกรรม ตามพุทธบัญญัติครับ
เรามาดูคุณสมบัติของผ้ากฐินที่เราจะนำไปถวายนั้น ขอพูดถึงในกรณีผ้าขาวอย่างเดียวนะครับ
- ผ้าที่ถวายควรเป็น ผ้าฝ้าย(Cotton) เพราะ พระสงฆ์ท่านต้องนำผ้าไปย้อมเอง ซึ่งผ้าฝ้ายเป็นผ้าที่สามารถนำไปย้อมสีเองได้ง่ายครับ
- การเลือกเนื้อผ้าที่จะไปถวายก็สำคัญไม่แพ้กัน หากเป็นวัดในภาคเหนือหรือบนดอยสูงที่มีอากาศหนาว ควรเลือกผ้าที่มีความหนาประมาณหนึ่งเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย หรือผ้าที่เหมาะกับอากาศบ้านเรา คือ ผ้ามัสลิน เพราะเป็นผ้าเนื้อละเอียด ระบายอากาศได้ดีเยี่ยม แห้งเร็ว และน้ำหนักเบา
- เรียงลำดับผ้ากฐินที่คนส่วนใหญ่นิยมถวายจากเนื้อบางไปเนื้อหนาได้ดังนี้ คือ ผ้ามัสลิน>ผ้าซันฟอไรซ์ (Sanforized) ตราดอกบัว เบอร์หมื่น>ผ้าซันฟอไรซ์(Cotton ลาย1)>ผ้าคอตต้อนลายสอง
- *กรณีที่จำเป็นต้องถวายผ้าที่ตัดเย็บย้อมสำเร็จรูปแล้ว ต้องคำนึงถึงสีข้องผ้ารวมถึงนิกายของวัดที่ต้องการไปถวายด้วย อย่างพระสายธรรมยุต จะใช้เป็นสีแก่นขนุน แก่นขนุนเข้ม และสีกรักครับ
ข้อควรรู้อีกอย่างสำหรับผ้าสำเร็จรูปที่ย้อมหรือตัดมาเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการบางรายนิยมใช้ผ้าโทเร หรือผ้าที่มีส่วนผสมระหว่างฝ้ายและโพลีเอสเตอร์ เพราะมีราคาที่ถูก แต่ข้อเสียของผ้าชนิดนี้ คือ จะลื่น ทำให้เวลาพระสงฆ์เดินบิณบาตรจะไม่สะดวกนักครับ